เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 สำนักงาน ป.ป.ช. โดยสำนักประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส จัดประชุมชี้แจงแนวทางการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส ในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐระดับต่ำกว่ากรม (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ของสถานีตำรวจนครบาล/สถานีตำรวจภูธร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ในรูปแบบ Online ผ่านระบบ Zoom Cloud Meeting วัตถุประสงค์เพื่อชี้แจงแนวทางการประเมิน ITA ของสถานีตำรวจ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ให้เข้าใจถึงแนวทาง ขั้นตอน และวิธีปฏิบัติที่ทำให้สามารถขับเคลื่อนการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสให้สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายให้แก่สถานีตำรวจนครบาล/สถานีตำรวจภูธร
โดยมี พล.ต.ท.ณพวัฒน์ อารยางกูร รองจเรตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้กล่าวเปิดกิจกรรมฯ และมอบนโยบายแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วประเทศ และการดำเนินกิจกรรมการประชุมชี้แจงแนวทาง ITA ของสถานีตำรวจในครั้งนี้ นำโดย นางสาวอภิสร์ญา พัดเกร็ด ผู้อำนวยการสำนักประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส ได้ชี้แจงถึงจุดเน้น การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของสถานีตำรวจ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 และนายยอดไผ่ หล้าอินสม เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตชำนาญการพิเศษ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบและวิชาการสำนักประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส พร้อมด้วย ดร.ชนิดา อาคมวัฒนะ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาระบบและวิชาการ ชี้แจงกรอบแนวทางการประเมินและปฏิทินการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของสถานีตำรวจนครบาล/สถานีตำรวจภูธร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 และคณะนักวิจัยการพัฒนาระบบ ITAP จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมชี้แจงแนวทางการใช้ระบบ ITAP ที่มีการพัฒนาและปรับปรับประสิทธิภาพของระบบ อาทิ การปรับเพิ่ม function ตัวเลือกการเข้าตอบแบบประเมิน ด้วยการใช้ OTP (One Time Password) แทนการะบุเลขประจำตัวประชาชน หรือการเพิ่ม Function ระบบการชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติม หรือระบบการอุทธรณ์ (เดิม) ผ่านระบบ ITAP
ผู้เข้าร่วมกิจกรรมประกอบด้วย ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานจเรตำรวจ ผู้แทนกองบัญชาการตำรวจนครบาลผู้แทนกองบังคับการตำรวจนครบาล 1 – 9 ผู้แทนตำรวจภูธรภาค 1 – 9 ผู้แทนตำรวจภูธรจังหวัด และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมจำนวนกว่า 2,000 คน
การประเมิน ITA ของสถานีตำรวจ ถือได้ว่าเป็นการประเมินหน่วยงานที่มีความสำคัญเชิงพื้นที่ และ มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต อีกทั้งกลไกการประเมินยังคงมุ่งเน้นการยกระดับการบริหารงานตำรวจ ให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ ป้องกันความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดการรับสินบน รวมถึงการพัฒนาและยกระดับการให้บริการประชาชนในมิติต่าง ๆ ผ่านการกำหนดเป็นกรอบและเกณฑ์การประเมิน โดยกรอบการประเมินดังกล่าวมุ่งเน้นการพัฒนาทั้งในมิติของ “ระบบ” การปฏิบัติงาน/การให้บริการ/การบังคับใช้กฎหมาย และการพัฒนาที่ตัว “คน” หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผลักดันให้เกิดสมรรถนะเชิงบวกทั้งในด้านการบริการและการบังคับใช้กฎหมายและการเสริมสร้างวัฒนธรรมสุจริต อย่างยั่งยืน อีกทั้งยังส่งเสริมการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์การปฏิบัติงานของตำรวจในมิติเชิงพื้นที่ จำแนกตามสายงาน เช่น สายงานป้องกันและปราบปราม สายงานสืบสวน สอบสวน หรือสายงานจราจร รวมถึงการเผยแพร่ผลงานสำคัญ อาทิ ผลการจับกุม การป้องกันและรักษาความความสงบเรียบร้อย และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การทำงานอย่างมีส่วนร่วม ฯลฯ อันจะสร้างความเชื่อถือ เชื่อมั่น ที่มีต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ และภาพรวมของประเทศต่อไป