เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. มีคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 287/2564 ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2564 เรื่องการรับคำร้องทุกข์ และการสอบสวนคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ใจความว่า ตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2552 และกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการหรือส่วนราชการอย่างอื่นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2552 จัดตั้งกองบัญชาการตำรวจนครบาล ตำรวจภูธรภาค 1-9 และกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดยกำหนดให้มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายอื่นอันเกี่ยวกับความผิดทางอาญา และต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2563 และกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการหรือส่วนราชการอย่างอื่นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ 17) พ.ศ.2563 จัดตั้งกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยกำหนดให้มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ กฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และกฎหมายอื่น อันเป็นความผิดทางอาญาเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและความผิดอื่นที่เกี่ยวเนื่อง นั้น
เพื่อให้การรับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษ และการสอบสวนคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สามารถอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนโดยสะดวกและรวดเร็ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11(4) แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2557 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 7/2559 ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2559 เรื่อง การกำหนดตำแหน่งของข้าราชการตำรวจซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการสอบสวน ประกอบมาตรา 16 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
คำสั่งดังกล่าวมีสาระสำคัญ เช่น ข้อ 2 คดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่สำคัญ มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(1) คดีที่มีการกระทำผิดเป็นรูปขบวนการหรือกลุ่มบุคคล ซึ่งต้องใช้เครื่องมือพิเศษในการสืบสวนสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐาน
(2)คดีเกี่ยวกับทรัพย์ที่มีมูลค่าความเสียหายตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป และมีจำนวนผู้เสียหายรวมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป
(3)คดีเกี่ยวกับทรัพย์ที่มีมูลค่าความเสียหายตั้งแต่ 30 ล้านบาทขึ้นไป หรือมีจำนวนผู้เสียหายรวมกันตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป
(4)คดีที่มีลักษณะองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ
(5)คดีที่ส่งผลเสียหายร้ายแรงต่อระบบคอมพิวเตอร์หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีไว้เพื่อประโยชน์
(6)คดีที่ส่งผลเสียหายร้ายแรงต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความมั่นคงปลอดภัยสาธารณะ การบริการสาธารณะ หรือ ระบบสาธารณูปโภคสาธารณะ
(7)คดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา ภาค 2 ลักษณะ 1 และลักษณะ 1/1 ซึ่งมีความยุ่งยากสลับชับซ้อน
(8)คดีที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีนโยบายป้องกันและปราบปรามเป็นพิเศษ
ข้อ 3 คดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งได้เกิด หรืออ้าง หรือเชื่อว่าได้เกิดในเขตอำนาจของพนักงานสอบสวนท้องที่ พนักงานสอบสวนสังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง หรือหนักงานสอบสวนสังกัดกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ให้พนักงานสอบสวนนั้นรับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษและทำการสอบสวนตามกฎหมาย ระเบียบ และคำสั่งที่เกี่ยวข้อง
หากพนักงานสอบสวนท้องที่ที่รับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษไว้แล้วเห็นว่าคดีดังกล่าวเข้าข่าย ตามข้อ 2 (1) ถึง (5) หรือ (8) จะส่งเรื่องหรือสำนวนการสอบสวนให้กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีทำการสอบสวนก็ได้ หรือเข้าข่ายตามข้อ 2 (6)(7)หรือ (8) จะส่งให้กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางทำการสอบสวนก็ได้
หากพนักงานสอบสวนสังกัดกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่รับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษไว้แล้ว เห็นว่าคดีดังกล่าวไม่เข้าข่ายตามข้อ 2 จะส่งเรื่องหรือสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานสอบสวนท้องที่ที่มีเขตอำนาจสอบสวนทำการสอบสวนก็ได้ หรือกรณีเข้าข่ายตามข้อ 2 (6)(7) หรือ (8) จะส่งเรื่องหรือสำนวนการสอบสวนให้กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางทำการสอบสวนก็ได้
และหากพนักงานสอบสวนสังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางที่รับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษไว้แล้ว เห็นว่าคดีดังกล่าวเข้าข่ายตามข้อ 2(6) (7) หรือ (8) หรือเป็นคดีอยู่ในอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบของตน ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนดไว้ ให้ทำการสอบสวนให้เสร็จสิ้นตามอำนาจหน้าที่ หากเห็นว่าคดีไม่เข้าข่ายหรือไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่กรณีข้างต้น แต่เข้าข่ายตามข้อ 2 (1) (2) (3) (4) หรือ (5) จะส่งเรื่องหรือสำนวนการสอบสวนไปยังกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีก็ได้ และหากคดีไม่เข้าข่ายตามข้อ 2 จะส่งเรื่องหรือสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานสอบสวนท้องที่ที่มีเขตอำนาจสอบสวนทำการสอบสวนก็ได้ โดยให้นำความตามวรรคสามมาใช้โดยอนุโลม
ข้อ 6 ให้ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ศปอส.ตร.) เป็นหน่วยรับแจ้งคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และทำการรวบรวมข้อมูล ตรวจสอบ วิเคราะห์ลักษณะคดี เพื่อส่งเรื่องไปยัง ตำรวจภูธรภาคหรือกองบัญชาการที่มีอำนาจหน้าที่ เพื่อจัดให้มีการรับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษตามระเบียบและทำการสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป และให้ผู้อำนวยการศูนย์ฯ หรือผู้ที่ผอ.ศูนย์ฯมอบหมาย เป็นผู้พิจารณาส่งเรื่องหรือสำนวนการสอบสวนให้ ตำรวจภูธรภาคหรือกองบัญชาการ
โดยคำสั่งดังกล่าวให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป
ข้อ 7 ให้ผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) หรือผู้ที่ผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจ
แห่งชาติมอบหมาย ควบคุม กำกับและเร่งรัดการสืบส่วนสอบสวนการดำเนินคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและการกระทำผิดทางอาญาที่เกี่ยวเนื่อง ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในภาพรวม เพื่อให้การสอบสวนคดีดังกล่าว เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเสร็จสิ้นโดยเร็ว ตลอดจนมีอำนาจเสนอออกคำสั่งแต่งตั้งพนักงานสืบสวนสอบสวนดำเนินคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี